ศรีลังกาและความศรัทธาต่อพุทธศาสนา
ศรีลังกาเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังคงนับถือ พระพุทธศาสนาเถรวาทไว้อย่างบริสุทธิ์ และ เหนียวแน่น แม้จะเคยผ่านเรื่องราวในการยึดครองแผ่นดินโดยพวกต่างชาติต่างศาสนา แต่ศาสนาพุทธของศรีลังกาไม่เคยเลือนหาย
ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสได้ไปเยือนศรีลังกา สิ่งที่ทำให้เกิดความปิติในจิตใจ มีอยู่อย่างมากมาย แต่ ณ โอกาสนี้ขอเล่าไว้โดยพอสังเขป
พุทธศาสนาในศรีลังกา
ศรีลังการับเอาพุทธศาสนา มาในยุคสมัยของ พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งอินเดีย (ประมาณ ปี พ.ศ.236) ในยุคนั้นพระมหากษัตริย์ของศรีลังกา คือ พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะมหาราช มหาราชทั้ง 2 ทรงเป็นอทิฏฐสหาย (สหายกันแต่ไม่เคยได้ทรงพบหน้ากัน) พระเจ้าอโศกมหาราชก็ทรงชักชวนให้พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เข้ามานับถือพระพุทธศาสนา โดยมีพระมหินทเถระเป็นผู้นำพุทธศาสนาไป เผยแพร่ที่ ศรีลังกา และเป็นปฐมเหตุแห่งพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป ปัจจุบันชื่อมหินทรา, พระมหินทเถระ, มหิน เป็นชื่อที่ได้รับความเคารพยกย่องและถูกนำไปตั้งเป็นชื่อเพื่อความเป็นศิริมงคลอย่างแพร่หลาย
หลังจากพุทธศาสนาได้ตั้งมั่นในศรีลังกาแล้ว พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะมหาราช ได้ส่งคณะทูตไปทูลขอกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ และทรงให้จัดการปลูกพระศรีมหาโพธิ์ในเมืองอนุราธบุรี ได้ทรงสร้างมหาวิหาร พร้อมทั้งสร้างถูปารามเจดีย์ อันเป็นพระเจดีย์องค์แรกในลังกาขึ้นอีกด้วย
ครั้งล่วงสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะมหาราช สืบเนื่องมาจนถึงพระเจ้าเกียรติเมฆวรรณ (ประมาณปี พ.ศ.913) ทางฝั่งอินเดียพระเจ้าคุหะสีวะ แห่งนครทันตปุระ รับศึกหนักจนใกล้จะต้านไว้ไม่อยู่ ด้วยความยึดมั่นในพุทธศาสนาของพระองค์ และเล็งเห็นว่าดินแดนที่เหมาะสมที่จะประดิษฐ์สถานพระเขี้ยวแก้วคือลังกาทวีปหรือศรีลังกา จึงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าหญิงเหมมาลา ราชธิดากับเจ้าชายทันตกุมารซึ่งเป็นพระนัดดาและพระสวามีของเจ้าหญิงเหมมาลา นำพระเขี้ยวแก้วสู่ลังกาทวีป ทั้งสองพระองค์ปลอมตัวเป็นพราหมณ์ ซ่อนพระเขี้ยวแก้วไว้ที่มวยผมของเจ้าหญิงเหมมาลาและฝ่าฟันอุปสรรคมากมายและเมื่อไปถึงก็ได้นำถวายแด่พระเจ้าเกียรติเมฆวรรณ ที่นครอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา
จากวันนั้นถึงวันนี้ศรีลังกามีเหตุการณ์สับสนวุ่นวายเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์บางพระองค์ที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธจึงทำลายพุทธศาสนา การแย่งอำนาจ การทำสงคราม การเข้ามายึดครองดินแดนของชาวต่างชาติ แต่ไม่ว่าจะเหตุการณ์อันใดที่บ่อนทำลายพุทธศาสนาในศรีลังกา พุทธศาสนาก็จะไม่เคยสาบสูญไปจากศรีลังกา หรือเนื่องด้วยมหาศรัทธาที่ฝังรากลึกเข้าไปในจิตใจชาวลังกา จึงเกิดปาฏิหาริย์ตลอดมา
อาธิเช่น ประมาณ พ.ศ. ๒๐๔๘-๒๒๐๑ ในรัชสมัย พระเจ้าธรรมปาละ พวกนักล่าอาณานิคมชาวยุโรปแผ่อิทธิพลเข้ามาถึงศรีลังกา นักล่าอาณานิคมนำศาสนาของตนเข้ามาเผยแผ่ ใช้อำนาจทางการเมืองบังคับให้ประชาชนเปลี่ยนศาสนา ถึงกับมีการบังคับให้พระเจ้าธรรมปาละมอบพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้าให้พวกเขา และให้นักบวชในศาสนาของเขานำพระเขี้ยวแก้วมาตำในครกจนแหลกละเอียดเป็นผุยผง แล้วนำไปทิ้งในทะเลต่อหน้าฝูงชนชาวลังกา ทั้งสร้างเหรียญที่ระลึกเป็นภาพนักบวชของเขาใช้ครกสากตำพระเขี้ยวแก้ว จารึกคำในเหรียญว่า “ผู้พิทักษ์ศาสนาอันแท้จริง” ประมุขศาสนาของพวกเขาส่งสาส์นมาแสดงความยินดีที่ทำลายปูชนียวัตถุของชาวพุทธลงได้
ภายหลังกษัตริย์ธรรมปาละ จึงได้แถลงข่าวออกมาว่า พระเขี้ยวแก้วที่ถูกทำลายนั้นเป็นของปลอม ของจริงยังคงรักษาไว้ บางตำนานเหล่าว่าพระเขี้ยวแก้วที่ถูกทำลายนั้นเป็นของจริง แต่คำว่าปาฏิหาริย์ มีจริงเสมอสำหรับผู้มีความศรัทธา พระเขี้ยวแก้วที่ถูกทำลายนั้นแสดงปาฏิหาริย์ โดยการกลับมารวมตัวกันเป็นพระเขี้ยวแก้วอีกครั้ง สำหรับชาวศรีลังกานั้น พระเขี้ยวแก้วถือเป็นศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลังกา ผมมีโอกาสได้เข้าสักการะ พระเขี้ยวแก้ว ณ วัดพระเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี้ ในช่วงเช้าตรู่ น่าแปลกใจที่ ชาวศรีลังกาวัยรุ่น หนุ่มสาว แต่งกายด้วยชุดขาว (การเข้าวัดในศรีลังกาควรต้องแต่งชุดขาว แต่สำหรับวัดพระเขี้ยวแก้วต้องใส่ชุดขาวเท่านั้น) มายืนเข้าแถวรอประตูเปิด เพื่อเข้าไปสักการะพระเขี้ยวแก้ว บ้างอุ้มลูก จูงหลาน บ้างเป็นสามีภรรยา บ้างมาพร้อมบิดามารดา ใบหน้าทุกใบยิ้มแย้มแจ่มใส เอิบอิ่มไปด้วยความสุข ต่อคิวเรียงแถวกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ถอดรองเท้าวางด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแพร่ (เนื่องจาการเข้าพุทธสถานในศรีลังกาต้องถอดรองเท้าทุกแห่ง) และเวลามาถึง ผมได้เข้าไปสักการะพระเขี้ยวแก้วถึงชั้นในสุด เชื่อไหมครับ แว๊บแรกที่ได้เห็นพระเขี้ยวแก้ว น้ำตาของตัวผมไหลออกมาโดยไม่มีสาเหตุ เวลารอบกลายนั้นหยุดไปชั่วขณะ หรือนี่อาจเป็นน้ำตาแห่งความปิติที่ออกมาจากจิตใจ หนึ่งในบทสวดมนตร์ที่บ้านเรานิยมสวดกันอย่างแพร่หลาย อย่าง คาถาพาหุง มีผู้ที่สืบค้นข้อมูลอย่างละเอียดและได้ทำการ วินิฉัยไว้ว่าเป็นบาทสวดที่ก่อกำเนิดจากประเทศศรีลังกา หากถามว่าทำไมบ้านเรานิยมสวดกันอย่างแพร่หลายและจุดกำเนิดของบ้านเรามาจากที่ใด ท่านสามารถสืบค้นได้จาก หนังสือสวดมนต์สะเดาะกรรมหลวงพ่อจรัญ หากมีโอกาสได้เข้าไปวัดศรีลังกา ท่านจะได้เห็นชาวศรีลังกาสวดมนตร์กันอย่างคล่องแคล่ว โดยบทที่นิยมสวดกันมาก คือ พาหุงมหากา และ อิติปิโส เครื่องถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา ชาวพุทธศรีลังกานิยมดอกถวายด้วยไม้ที่มีกลิ่นหอม เป็นดอก ๆ ไม่นิยมร้อยมาลัย โดยมากเป็นดอกบัวสีชมพู แต่ดอกลั่นทม ดอกพุด ดอกมะลิ ก็เป็นที่นิยมเช่นกันดอกไม้พลาสติก จะไม่เป็นที่นิยมของที่ศรีลังกา
ความศรัทธาต่อศาสนาของศรีลังกา
ความรัก ความหวงแหน ความศรัทธา ของชาวศรีลังกาที่มีต่อศาสนาพุทธนั้น อาจสืบเนื่องด้วยการผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านอุปสรรค ต่าง ๆ นามามากมาย แต่หนึ่งสิ่งที่ชาวศรีลังกาแสดงให้ชาวโลกเห็น คือ ความบริสุทธ์ที่มีต่อศาสนาเอกของโลก ความรักและทำนุบำรุง ซึ่งความเป็นพุทธอย่างแท้จริง และอาจเนื่องด้วยสิ่งนี้เองทำให้ จิตใจของชาวศรีลังกาบริสุทธ์ แววตาที่เปลี่ยมไปด้วยความสดใส รอยยิ้มที่เกิดขึ่นจากจิตใจ ดังที่พระพุทธเจ้าหลวง (ร.5) ทรงกล่าวถึงชาวศรีลังกาว่า แม้ผิวจะดำเหมือนก้นหม้อ แต่พวกเขาเป็นชาวพุทธที่มีจิตใจงดงาม ในพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” รัชกาลที่ 5
พรีมา คอนเนคชั่น ให้บริการทัวร์ศรีลังกา แพคเกจศรีลังกา มาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ติดตามเราได้ทาง facebook